‘Ekso-suit’ ช่วยคนเป็นอัมพฤกษ์ให้กลับมาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง

พุทธพจน์ที่ว่า ‘อโรคยา ปรมาลาภา – ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ’ กลายเป็นประโยคเตือนใจสุดคลาสิกที่สะท้อนให้เห็นว่า ความร่ำรวยทางด้านเงินทองดูจะสู้สุขภาพกายและใจที่แข็งแรงไม่ได้ แม้ว่าพัฒนาการทางการแพทย์จะรุดหน้าไปไกลเพียงใด แต่เราก็ยังมีโรคภัยไข้เจ็บอีกหลายโรคที่ยากจะรักษา และอาการอัมพาตหรืออาการอัมพฤกษ์ ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อาการของโรคเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ส่งเลือดผ่านไปเลี้ยงสมอง เช่น ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดสมองอุดตัน หรือหลอดเลือดสมองแตก ส่งผลให้สมองขาดเลือด และเป็นที่มาของอาการแขนและขาอ่อนแรงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

แต่วันนี้พัฒนาการทางด้านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) โดยบริษัท 3D Systems ได้พัฒนาชุด Hybrid Exoskeleton Robotic Suit (Ekso-suit) ที่สามารถสวมต่อเข้ากับขาพร้อมทำหน้าที่พยุงโครงสร้างของร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการอัมพฤกษ์ตั้งแต่ช่วงเอวลงมาทางด้านล่างสามารถกลับมายืนด้วยสองขาและพร้อมก้าวเดินได้อีกครั้ง โดยมี Amanda Boxtel อาสาสมัครที่ใช้ชีวิตผูกติดกับรถเข็นมาโดยตลอดหลังจากที่เธอประสบอุบัติเหตุจากการเล่นสกีในปี ค.ศ.1992  แต่ด้วยใจที่ไม่เคยท้อเธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาชุด Ekso-suit กับ 3D Systems จนเป็นผลสำเร็จ นับเป็นครั้งแรกที่เธอได้กลับมายืนอีกครั้งหลังจากที่ต้องนั่งรถเข็นนานถึง 22 ปี

ชุด Ekso-suit ที่เธอสวมใส่ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่คร่าวๆ คือ 1) ส่วนรองรับยึดติดร่างกาย และ 2) เครื่องกลพร้อมที่บังคับ ทีมงานทำการสแกน 3 มิติในบริเวณหน้าแข้ง สะโพก และหลังของ Boxtel เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาโครงสร้างส่วนรองรับร่างกาย โดยใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูป 3 มิติในการขึ้นชิ้นงาน จากนั้นนำเครื่องกลช่วยการขับเคลื่อนที่พัฒนาโดย Ekso Bionics มายึดติดกับชิ้นส่วนที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติพร้อมติดตั้งรีโมทบังคับ กลายเป็นชุด Ekso-suit โดย Boxtel กล่าวว่า “โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงชัยชนะที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีและจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่สามารถคิดค้นชุด Ekso-suit ที่มีประสิทธิภาพโดยไม่ละทิ้งความสวยงาม มีรสนิยม ภายใต้แนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืนด้วย”

พัฒนาการของเครื่องพิมพ์ 3 มิติกำลังก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในวงการแพทย์ จากอุปกรณ์ที่ยากต่อการผลิตกลายเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ จากกระบวนการผลิตแบบเน้นปริมาณจำนวนมากสู่การสร้างสรรค์ชิ้นงานเฉพาะเจาะจงไปที่ผู้ใช้งานหนึ่งคน และจากความสิ้นหวังในการรักษาสู่ความหวังในการมีชีวิตที่สดใส เหมือนดั่งเช่น Boxtel ที่กลับมามีชีวิตบนสองปลายเท้าของเธออีกครั้ง

[youtube url=”http://youtu.be/bhCAkUMQ5GA” width=”600″ height=”340″]

อ้างอิง : 3D systems: Ekso-suit